ระบบขนส่งอวกาศ

          ระบบขนส่งอวกาศ



        ยานขนส่งอวกาศนับเป็นก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของมนุษย์ชาติที่จะช่วยสานฝันให้เป็นจริงตามจินตนาการหลาย ๆ ด้านในวงการอวกาศ ยานอวกาศที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายครั้ง ไม่ใช่ใช้เพียงแค่ครั้งเดียวแล้วทิ้งไปหรือตั้งแสดงตามพิพิธภัณฑ์เหมือนยานอวกาศรุ่นก่อน ๆ ทำให้มนุษย์สามารถสำรวจอวกาศและทำกิจกรรมต่าง ๆ ในอวกาศได้อย่างจริงจังและลดค่าใช้จ่ายลงไปมาก และเมื่อความเคยชินในการใช้งานมีมากขึ้น ต่อไปมันจะเหมือนกับพาหนะโดยสารธรรมดาลำหนึ่งเหมือนเรือเหมือนเครื่องบินที่มนุษย์คุ้นเคยในการใช้เดินทางเพียงแต่ยานขนส่งอวกาศนำพามนุษย์ล่องลอยขึ้นสู่ห้วงอวกาศที่กว้างใหญ่ไพศาล

         " ยานขนส่งอวกาศ  (Space Shuttle) ใช้แล้วใช้ใหม่ได้ โครงการยานขนส่งอวกาศ เป็นโครงการที่สืบทอดเจตนารมณ์มาจากโครงการสำรวจดวงจันทร์ของยานอะพอลโลที่มีการประยุกค์ความรู้ด้านอวกาศเดิมให้เกิดผลตอบแทนอย่างคุ้มค่า เพราะยานขนส่งอวกาศเสมือนเป็นรถบรรทุกขนส่งสัมภาระอะไรก็ได้ที่มีน้ำหนักไม่เกิน 29,500 กิโลกรัม สามารถบรรจุช่องบรรทุกขนาด 18 X 4.5 ตารางเมตรได้และยังเป็นยานกู้ภัย เพื่อช่วยมนุษย์อวกาศที่ติดอยู่ในวงโคจร (ช่วยนักบินอวกาศรัสเซียในสถานีอวกาศเมียร์) หรือเก็บดาวเทียมที่เสียหายมาซ่อมแซม เพื่อการใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศมักใช้คำว่า “ระบบยานขนส่งอวกาศ” มากกว่า “ยานขนส่งอวกาศ” เฉย ๆ ด้วยเหตุที่ส่วนประกอบแบ่งเป็น 2 ส่วนอย่างชัดเจนคือ มียานโคจร (Orbiter) และจรวดขับดัน (Booster rockets) ซึ่งถูกออกแบบให้เป็นมาตรฐานเหมือนกันหมดเพื่อสามารถใช้แทนกันได้ ดังนั้นเมื่อสังเกต “ระบบยานขนส่งอวกาศ” จะเห็นได้ว่ารูปลักษณะที่ดูคล้ายเครื่องบิน ซึ่งก็คือยานโคจรที่เกาะอยู่กับแท่งเชื้อเพลิงยักษ์ที่บรรจุเชื้อเพลิงเหลว (ออกซิเจนเหลวและไฮโดรเจนเหลว) เพื่อเป็นเชื้อเพลิงให้กับยานโคจร แท่งเชื้อเพลิงนี้ถูกขนาบข้างด้วยจรวดขับดันที่บรรจุเชื้อเพลิงแข็ง เพื่อช่วยขับดันให้ยานพุ่งทะยานสู่ท้องฟ้าด้วยความเร็วที่สามารถชนะแรงโน้มถ่วงของโลกได้ ช่วงกลางปี พ.ศ. 2518 ยานโคจรลำแรกคือยานโคจร 101 (Orbiter 101) ก็ได้รับการประกอบครั้งสุดท้ายให้เสร็จสมบูรณ์ ขณะที่ยานใกล้ประกอบเสร็จองค์การนาซาได้ตั้งชื่อยานลำนี้ว่า “คอนสติติวชั่น (Constitution) แต่บรรดาแฟนของภาพยนตร์ชุดสตาร์เทรค (Star Trek) ได้ทำจดหมายถึงประธานาธิบดีฟอร์ดมากกว่า 100,000 ฉบับขอให้ตั้งชื่อยานลำนี้ว่า “เอนเตอร์ไพรส์ (Enterprise)” ตามชื่อยานในภาพยนตร์ชุดดังกล่าว จึงเป็นที่มาของชื่อยานลำแรกของยานขนส่งอวกาศ "